วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

"การลงทุนในตลาดเงินไม่สามารถทำให้รวยได้ในระยะสั้น แต่นักลงทุนต้องเน้นการลงทุนในระยะยาวเพื่อความเป็นไปได้ที่สูงกว่าครับ"

                                                ลงทุนในกองทุน  อย่างไรให้ปลอดภัย

            หลายๆคนคงรู้จักกองทุนรวม  และอีกหลายๆคนคงเคยได้ลงทุนในกองทุนรวมกันบ้างแล้ว  บางคนก็ประสบความสำเร็จ  บางคนก็เจ็บตัว เจ็บใจมาไม่ใช่น้อย  เอาเป็นว่าคนที่เคยประสบความสำเร็จ  คุณมั่นใจหรือไม่ว่าที่คุณว่ากำไร มันโชคช่วย หรือฝีมือ  และสำหรับคนที่เจ็บตัว ก็ลองศึกษาวิธีการลงทุนอย่างไรให้ปลอดภัยที่ผมกำลังจะแนะนำกันดูนะครับ  งั้นขอเริ่มต้นความสำคัญลำดับแรกในการลงทุนกันเลยครับ

ผู้ลงทุนต้องทราบวัตถุประสงค์ในการลงทุนที่แน่ชัด  คือ คนที่จะเริ่มลงทุนในกองทุนรวมนั้น  จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาความต้องการของตัวเองให้เจอเสียก่อน  มิเช่นนั้นคุณจะไม่สามารถเลือกกองทุนที่เหมาะสมกับตัวคุณได้ และคุณจะหลงทางไปตลอดในเส้นทางการลงทุนของคุณ

 ตัวอย่างเช่น  ผมตั้งเป้าหมายในการซื้อกองทุนก็เพื่อ จะมีสวัสดิการในยามเกษียณอายุ  ระยะเวลาที่ผมคาดหวังคือ 20 30 ปี    โดยที่ผมต้องการมีเงินตอนเกษียรอายุเป็นจำนวน 10 ล้านบาท ( เป็นตัวเลขในการลงทุนที่ผมคาดการไว้จริงๆครับ)

จะเลือกซื้อกองทุนรวมอย่างไร ตัวไหนดี มันดูยังไง

   อันนี้เป็นขั้นที่ 2 ภายหลังที่เราได้ทราบเป้าหมายที่เราวางไว้แล้วครับ  หลักในการเลือกซื้อกองทุนหลักๆนะครับ มีดังนี้
1.)   ให้ดูผลประกอบการย้อนหลังไปประมาณ 5 10 ปี  ว่าผลการดำเนินงานดีกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหรือไม่  ซึ่งตรงนี้สามารถไปศึกษาได้จาก “หนังสือชี้ชวน” ของกองทุนรวมนั้นๆ

2.)      หากเป็นไปได้ควรให้น้ำหนักไปที่  กองทุนรวมที่ฝ่าวิกฤตปี 2540 มาได้  เนื่องจากกองทุนดังกล่าวมีการบริหารความเสี่ยงได้ดี  ซึ่งทำให้เรามั่นใจได้พอสมควรว่าเงินต้นเราจะไม่หายไปไหนง่ายๆ  และในทางกลับกันควรระมัดระวังกองทุนรวม ที่พึ่งจัดตั้งและมีผลประกอบการร้อนแรงในช่วงเริ่มต้นไว้ให้ดี

3.)     กองทุนรวมที่ดี และที่เหมาะสมกับนักลงทุนที่คาดหวังระยะยาว   ควรจะต้องมีเงินปันผล  และมีการจ่ายเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอ (ไม่จำเป็นต้องทุกปี เพราะช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ คงไม่มีกองทุนรวมที่ไหนทะลึ่งจ่ายแน่นอน )

4.)      หากเป็นไปได้ควรเข้าไปดูนโยบายการบริหารของแต่ละกองทุน  ว่ามีหลักในการบริหารอย่างไร  ยกตัวอย่าง ในกรณีของผมละกันครับ  ปัจจุบันผมซื้อกองทุนบัวแก้วปันผล(ของ ธ.กรุงเทพ) เขามีนโยบายการบริหาร แบบเน้นระยะยาว และเน้นการลงทุนแบบระมัดระวัง  ซึ่งหมายความว่าในช่วงที่ตลาดหุ้นร้อนแรง กองทุนนี้ก็กำไรไม่สูงเท่ากับกองทุนอีกหลายๆตัว(แต่ก็มีกำไรที่ไม่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหุ้น)  แต่ในทางกลับกันหากปีใดตลาดหุ้นเริ่มแย่  กองทุนนี้ก็จะขาดทุนน้อยกว่ากองทุนอื่นๆ ที่มุ่งเน้นผลกำไร มากกว่าความระมัดระวัง เป็นต้น

วันศุกร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

มาเริ่มต้นทำความรู้จักกองทุนรวม กันนะครับ

                                                        เริ่มต้นรู้จัก “กองทุนรวม”
            อย่างที่ได้เกริ่นไว้ในเรื่องก่อนหน้าว่าจะขอพูดถึงเรื่องกองทุนรวม  ซึ่งเป็นเรื่องที่โดยส่วนตัวคิดว่าเป็นเรื่องที่สำคัญในการวางแผนทางการเงิน  และผมก็เชื่อว่า “กองทุนรวม” เป็นสิ่งที่หลายคนเคยได้ยิน และอยากจะสัมผัสดูสักครั้ง  แต่ด้วยเหตุผลหลายประการที่ทำให้ยังไม่ได้สัมผัสเจ้ากองทุนรวมสักกะที  ก่อนอื่นเลยนะครับ  ต้องขออนุญาติเล่าเรื่องส่วนตัวเกี่ยวกับการลงกอทุนในตลาดเงินสักหน่อยนะครับ  คือว่าตัวผมเนี่ยเคยเป็นเจ้าหน้าที่การตลาดหลักทรัพย์(Marketing)  หรือที่คนทั่วไป ชอบเรียกติดปากว่า “โบรกเกอร์” แต่อันที่จริงแล้ว คำว่าโบรกเกอร์ คือบริษัทหลักทรัพย์   ส่วนเจ้าหน้าที่แนะนำและคีร์คำสั่งซื้อ-ขาย หลักทรัพย์ เขาเรียกว่า Marketing  ซึ่งตอนนั้นประมาณปี 2550    และต่อมาได้ลงทุนในตลาดหุ้นเองเมื่อประมาณปี 2552  และล่าสุดได้เข้ามาลงทุนในกองทุนรวมครั้งแรกเมื่อ 27 มีนาคม 2555   ในส่วนเรื่องตลาดหุ้นอย่าพึ่งไปสนใจนะครับ ( เอาไว้ในโอกาสหน้าจะมาเล่าประสบการณ์ให้ฟังครับ )  ครั้งนี้จะขอโฟกัสเฉพาะกองทุนรวมก่อนครับ  เอาเป็นว่าพอจะรู้ประสบการณ์คร่าวๆในการลงทุนของผมบ้างแล้ว  งั้นขอเริ่มต้นด้วยความหมายของคำว่า “กองทุนรวม” โดยใช้ภาษาแบบง่ายๆอธิบายนะครับ

กองทุนรวม  คือ  สถาบันหรือบริษัท ที่อาสานำเงินของผู้ที่ต้องการลงทุน  ไปบริหารแทนเจ้าของเงิน  โดยมีเงื่อนไขการลงทุนตามนโยบายที่ได้วางไว้   ซึ่งเจ้าของเงินจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้กับ สถาบันหรือบริษัทนั้นๆ

                สรุปได้ว่า  เราให้คนอื่นยืมเงินเราไปลงทุนแทนเรา  ก็เหมือนกับว่าเราลง ”เงิน”  ส่วนคนอื่นก็ลง “แรงและความคิด”  ส่วนค่าธรรมเนียมที่ว่าก็เปรียบเสมือนเป็น “ค่าจ้าง”

วันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ใกล้สิ้นปีแล้ว มาดูเรื่อง ภาษีเงินได้ เพื่อจะได้วางแผนภาษีกันครับ

                                                   ภาษีเงินได้  เรื่องน่ารู้ ที่ไม่ควรมองข้าม

            ใกล้สิ้นปีเข้ามาทุกทีนะครับ  สำหรับปี 2556  ชีวิตหนอชีวิต  ทำไมแต่ละปีมันช่างผ่านไปรวดเร็วเช่นนี้  ใจหนึ่งก็ดีใจ (แอบลุ้นโบนัส) อีกใจก็กลุ้มใจ (อายุก็เพิ่มขึ้นทุกวัน ร่างกายก็ชราไปตามวัย)  แต่ยังไงชีวิตก็ต้องดำเนินต่อไปนะครับ  แต่มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามในทุกๆปี  นั่นก็คือเรื่องของการชำระภาษีในแต่ละปี   อาจจะดูเหมือนเรื่องไกลตัว  แต่จริงๆ แล้วเป็นเรื่องที่ประชาชนทุกคนที่ต้องเสียภาษีไม่ควรมองข้ามนะครับ  เพราะว่าภาษีมันแฝงตัวอยู่กับเราตลอดเวลา ในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป  แต่ครั้งนี้ผมจะขอพูดถึงเฉพาะ “ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา” เพียงอย่างเดียวนะครับ

                เริ่มต้นกันเลยนะครับ  เรามารู้จักคำว่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา  แบบง่ายๆกันก่อนนะครับ  ถ้าเพื่อนๆได้ไปอ่านในบทความวิชาการ หรือในตำราเรียน  ก็จะมีคำนิยาม ซึ่งอ่านแล้วจะวกวน  อ่านแล้วก็งง  มีเงินได้เยอะแยะมากมาย  ซึ่งในครั้งนี้ผมขอตีกรอบให้แคบลงมา  เพื่อความกระชับนะครับ  เอาเป็นว่าภาษีเงินได้ในบทความนี้  หมายถึง  เงินได้จากการทำงาน (ค่าจ้าง ,เงินเดือน,ค่าคอมมิชชั่น,ค่าธรรมเนียม) ซึ่งถ้าพูดแบบวิชาการก็ “40(1) และ 40(2)”  เป็นไงครับถ้าไม่เรียนมาหรือไม่ได้ศึกษาก็งงกันเลย ว่าอะไรคือ 40(1) และ 40(2) เอาเป็นว่ามันคือ เงินเดือน หรือค่าจ้าง รวมไปถึงค่าคอมมิชชั่น ของเราแค่นั้นพอครับ  ส่วนเรื่องใครบ้างที่ต้องจ่ายภาษีผมไม่ขอพูดถึงแล้วกันนะครับ  เพราะผมเชื่อว่าคนที่ต้องจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะรู้ตัวเองอยู่แล้วครับว่าต้องจ่าย  แต่ที่ผมจะเน้นในบทความนี้ก็จะเป็นบุคคลที่ทำงานในบริษัททั่วๆไป ที่กินเงินเดือน (มนุษย์เงินเดือน)

                จากการที่เราได้รู้ความหมายแบบง่ายๆกันแล้วนะครับ  คราวนี้เราจะมาดูกันนะครับว่าอัตราภาษีที่เพื่อนๆจ่ายในแต่ละปีนั้น อยู่ในอัตราที่เท่าไหร่กันบ้าง  เรื่องอัตราภาษีนี้ก็เช่นกันครับ  ผมจะขอตัดรายละเอียดบางตัวออกไปบ้างนะครับ เพื่อให้ดูง่ายและไม่สับสนครับ   ตามนี้เลยครับ

เงินได้สุทธิ
ช่วงเงินได้สุทธิ
แต่ละขั้น
อัตราภาษี
ร้อยละ
1 - 150,000
150,000
ได้รับยกเว้น
150,001 - 500,000
350,000
10
500,001 - 1,000,000
500,000
20
1,000,001 - 4,000,000
3,000,000
30
4,000,001 บาทขึ้นไป

37
                        ( อ้างอิงและดัดแปลงจาก www.rd.go.th )
             
             ตรงช่องเงินได้สุทธินั้นคือรายได้รวมทั้งปีนะครับ  ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน+โบนัส+อื่นๆ (ในรอบปี) กลัวว่าเพื่อนๆบางคนจะงงว่าแล้วโบนัสใช่มั๊ย  เอาเป็นว่าอะไรก็ตามที่แจงรายได้ในสลิปเงินเดือน ก็จะต้องนำมาคำนวณในฐานภาษีครับ (ฐานภาษี คือ รายได้รวมทั้งปี)  แต่ถ้าจะเอาให้ชัวร์นะครับ  ให้ดูจาก “หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย” ที่คนทั่วๆไปชอบเรียกติดปากกันว่า “ทวิ 50” (น่าจะย่อมาจาก “ตามมาตรา 50 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร”)  ซึ่งจะมีรายละเอียดเงินได้ตลอดทั้งปี และภาษีที่เราได้จ่ายไปบ้างแล้วบางส่วน ( การหักภาษี ณ ที่จ่าย )  ซึ่งการหักภาษี ณ ที่จ่ายนี้จะมีอัตราการหักที่แตกต่างกันออกไป  แต่ไม่ต้องไปสนใจนะครับ  เพราะในความเป็นจริงก็มีค่าเท่ากันครับ  หลายคนคงสงสัยว่ามีค่าเท่ากันยังไง  จะอธิบายสั้นๆง่ายๆนะครับ  ดังนี้  หลายคนคงเคยได้ยินคำว่าขอคืนภาษี (จะขออธิบายเรื่องการคืนภาษีในส่วนท้ายนะครับ)  ซึ่งการที่จะได้คืนภาษีนั้น  แสดงว่าเราได้เสียภาษีเกินจำนวนที่เราได้จ่ายไปแล้วจริง  เราจะสามารถขอคืนภาษีกลับมาได้  ส่วนบางคนต้องเสียภาษีเพิ่ม ( ในประเด็นนี้เข้าใจผิดกันหลายคน ) แสดงว่าในแต่ละเดือนมีการหักภาษี ณ ที่จ่าย ไม่คลอบคลุมภาษีที่ต้องจ่ายทั้งหมดของปีนั้นนะครับ  ขอยกตัวอย่างสักหน่อยนะครับเพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน

วันศุกร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ฺBlacklist เครดิตบูโร สุขภาพทางการเงินที่ไม่ควรมองข้าม

                BLACKLIST เครดิตบูโร สุขภาพทางการเงินที่ไม่ควรมองข้าม

            หลายๆคนเคยสงสัย  และค้างคาใจอยู่ตลอด  ว่าอะไรคือ BLACKLIST  แล้วเราติดหรือยัง  ถ้าเราติดแล้วเราจะกู้ได้หรือไม่  แล้วมันจะมีผลกระทบอะไรกับเราบ้าง และสุดท้ายพอจะมีหนทางไหนบ้างที่เราจะรอดพ้นการติด BLACKLIST  ซึ่งฟังดูแล้วเหมือนวงจรที่ไม่ค่อยสู้ดีนักหากติดเจ้า BLACKLIST นี่เข้าไปจริงๆ  งั้นมาเริ่มรู้จักเจ้า BLACKLIST นี้เลยล่ะกันครับ

                ก่อนอื่นเลยต้องขอแนะนำตัวก่อนครับ  เผอิญว่าผมได้มีโอกาสทำงานเป็นเจ้าหน้าที่สินเชื่อในธนาคาร(หลายแห่งแล้วครับ)  ซึ่งที่ผ่านมาก็มีทั้งลูกค้าที่ติด BLACKLIST และลูกค้าที่ไม่ได้ติด   บางรายก็ยอมรับตามตรงว่าตัวเองติด  แต่บางรายเถียงหัวชนฝาเลยครับว่าไม่ติด แต่พอตรวจสอบเครดิตบูโรแล้วก็ไม่เหลือครับ  งั้นเรามาเริ่มรู้จักหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเครดิตบูโรกันก่อนนะครับ ดังนี้ครับ
บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (ที่พวกเราเรียกติดปากกันว่าเช็คบูโร น่ะครับ)  คือ หน่วยงานที่รวบรวมประวัติการชำระเงินกู้ของพวกท่านๆ เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ทุกคนนี่แหละครับ  เงินกู้ที่ว่านี้  ตั้งแต่วงเงินกู้ที่สร้างโรงแรม 5 ดาว  , โรงงานขนาดใหญ่ๆ , รถยนต์ยี่ห้อหรูๆ  ตลอดจนโทรศัพท์มือถือ (I-Phone , I-Pad)  คือแบบว่าไม่ว่าสินค้าอะไรก็ตามที่ท่านๆต้องผ่อนสถาบันการเงินกันน่ะครับ  สรุปก็คือถ้าคุณเกิดการกู้  คุณก็จะได้รับเกียรติให้ เครดิตบูโร จดบันทึกประวัติการผ่อนชำระของท่าน  ถึงแม้ว่า ใครจะหัวหมอเปลี่ยนชื่อตัว เพียงคิดว่าคงหนีการจดบันทึกของ เครดิตบูโร ได้  แต่ขอบอกไว้ตรงนี้เลยครับ  ว่าเขาตามจากเลขบัตรประชาชนครับ (หากใครคิดว่าแน่จริงก็ลองเปลี่ยนเลขบัตรประชาชนให้ได้นะครับ 555)


ธนาคาร                 คือ แบบว่าที่ผมต้องอธิบายความหมายของธนาคาร  ก็เพราะว่ายังมีสถาบันการเงินอีกกลุ่มที่  ปล่อยกู้แต่ไม่ได้ทำธุรกิจธนาคารน่ะครับ  ซึ่งความหมายของธนาคารคงไม่ต้องอธิบายอะไรมากมายนะครับ  เป็นที่รู้กันธนาคารทำหน้าที่ ฝากเงิน – ถอนเงิน ปล่อยกู้เงิน ภายใต้กฎเกณฑ์ของลูกพี่ใหญ่ ซึ่งก็คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย  เอาแค่นี้พอครับความหมายแบบง่ายๆ



สถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร หรือที่ทางทีวีชอบเรียกกันว่า นันท์แบงค์ (Non-Bank)  คือ  หน่วยงานที่ปล่อยเงินกู้ที่นอกเหนือจากธนาคาร  อันนี้มีกันมากมาย  ไม่ว่าจะเป็น สหกรณ์ในรูปแบบต่างๆ , ประกันชีวิต , พวกปล่อยบัตรกดเงินสด (เช่น ยูเม่ พลัส , อิออน เป็นต้น) , บริษัทลิสซิ่งทั้งหลาย (เช่น ฮอนด้าลิสซิ่ง ,โตโยต้าลิสซิ่ง เป็นต้น ส่วนพวกธนชาต ,ทิสโก้ จัดอยู่ในประเภทธนาคาร)  รวมไปจนถึงคนปล่อยเงินกู้ ทั่วไป( แต่อย่างหลังสุดนี่ผิดกฎหมายนะครับ 555 )