วันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ติดตั้งระบบแก๊สรถยนต์ ภาค2

กลับมาแล้วครับตามคำสัญญาที่บอกเอาไว้ว่าจะมาเพิ่มเติมจากเมื่ออาทิตย์ก่อน  งั้นผมไม่รอช้าแล้วครับ มาเริ่มกันเลยครับ  ( ภาค 2 )


ติดแก๊สรถยนต์ คุ้มหรือเสีย ยังไง ? (ภาค2)

           จากเรื่องราวเมื่ออาทิตย์ก่อนที่ผมได้แชร์เรื่องการตัดสินใจติดตั้งระบบแก๊สรถยนต์ไปนั้น  ครั้งนี้จะมาขอแชร์เพิ่มเติม  ว่าด้วยเรื่อง การเลือกยี่ห้อผลิตภัณฑ์ , การเลือกร้านติดตั้ง , ความคุ้มค่า , ปัญหาในการใช้งาน และรวมไปจนถึงวิธีการดูแลเบื้องต้น
          ขอเริ่มเรื่องแรกที่  การเลือกยี่ห้อผลิตภัณฑ์ ก่อนนะครับ  หลายๆคนคงเคยได้ยินโฆษณาระบบแก๊สรถยนต์จากทางทีวี , วิทยุ และสื่อต่างๆ ไปบ้างแล้ว  โดยที่ในประเทศไทยเรามีเจ้าใหญ่ๆด้วยกัน 3 เจ้า  คือEnergy Reform , Versus , AC  แต่ที่เคยได้ยินบ่อยๆจะเป็น 2 แบรนด์แรก  แต่จากการที่ผมสอบถามมาจากผู้รู้และในอินเตอร์เน็ต  ทั้ง 3 แบรนด์หลักๆนี้  ก็มีผลิตภัณฑ์ที่ไม่ค่อยจะแตกต่างกันสักเท่าไหร่  เพราะส่วนใหญ่ชุดอุปกรณ์ติดตั้งก็มาจากอิตาลีกันทั้งนั้น  จะแตกต่างกันก็ต้องที่ Software  ซึ่งแต่ละยี่ห้อก็โฆษณาในจุดเด่นของตัวเอง  ดังนั้นผมจึงมองว่าทั้ง 3 ยี่ห้อ เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ  ที่เหมาะสมแก่การติดตั้งทั้ง 3 แบรนด์ครับ  ดังนั้นหลักในการตัดสินใจติดตั้งระบบแก๊สรถยนต์(หลักการส่วนตัว) คงเหลือเพียง 2 ข้อดังนี้

1.)    ราคา  :  ถ้าพูดกันตรงไปตรงมา  2 ยี่ห้อแรก จะมีราคาที่ค่อนข้างสูงกว่า  ทั้งนี้อาจเป็นเพราะการทำการตลาดในเรื่องของการโฆษณาในสื่อที่หลากหลาย  จึงอาจทำให้ต้นทุนสูงกว่ายี่ห้อหลัง

2.)    เทคโนโลยี  :  ทั้ง 3 ยี่ห้อนี้ก็มีระบบการทำงานของระบบที่ไม่แตกต่างกัน  แต่จะแตกต่างกันตรงที่เทคโนโลยี  อย่างเช่น  Versus  มีระบบตัดแก๊สที่ด้านหน้ากระโปรงรถยนต์  หากมีปริมาณแก๊สรั่วออกมาในปริมาณที่ตั้งค่าไว้  ก็จะมีเจ้ากล่องตัวหนึ่งตัดระบบแก๊สทั้งระบบ ( แล้วเปลี่ยนมาใช้น้ำมันแทน)  เป็นต้น

          จากหลักการส่วนตัวของผม  จึงตัดสินใจติดตั้งยี่ห้อ  AC  ทั้งนี้เนื่องจากข้อ 1.  คือมันถูกกว่าชาวบ้านเขา และอีกอันก็คือ เป็นเจ้าแรกที่เข้ามาในเมืองไทย (แต่การตลาดอาจจะสู้ 2 ยี่ห้อที่ว่าไม่ได้)  หลังจากการที่เราเลือกยี่ห้อที่จะติดตั้งได้แล้ว  อันดับต่อไปเราก็ไปหาร้านที่รับติดตั้งระบบแก๊สรถยนต์กัน
           
เริ่มต้นการค้นหาร้านติดตั้งระบบแก๊ส  วิธีการที่ผมใช้ค้นหามีดังนี้

1.) ในยุค Social Network อย่างนี้ พวกเราคงมีอาจารย์คนเดียวกันนะครับ  งั้นลงมือค้นหาใน Google กันเลยครับ  โดย Search ยี่ห้อที่สนใจ  พร้อมทั้งระบุจังหวัด กันเลยครับ

2.)   หากได้ร้านที่เป็นตัวแทนติดตั้งแล้ว  ให้โทรสอบถามข้อมูลเบื้องต้นกันก่อนเลย  ซึ่งสิ่งที่ควรจะสอบถามก็มีดังนี้  ราคา , ระยะเวลาติดตั้ง , มีประกันภัยหรือไม่ , มีใบวิศวะกรรับรองหรือไม่  ซึ่งเป็นคำถามที่ผมมองว่าสำคัญ

      3.)    หากคุยเบื้องต้นแล้วผ่าน  ก็ให้เข้าไปที่ร้านกันเลย   สิ่งที่ควรดูก็คงเป็นเรื่องของเครื่องไม้ เครื่อง             มือ , ปริมาณลูกค้าที่มาใช้บริการ , และสุดท้ายที่สำคัญสุดๆคือ ช่างที่มาคุยกับเรามีความรู้จริง                 หรือไม่  หรือแค่อยากจะขายเท่านั้น ( ช่างที่ดีควรแนะนำ Series ระบบแก๊สที่เหมาะกับรถยนต์ของ             เรา  ไม่แนะนำ Series ที่สูงเกินไป เพราะมันจะไม่ให้ประโยชน์สูงสุดกับรถยนต์ของเรา)



          จากการที่ผมได้ค้นหาร้านที่รับติดตั้งระบบแก๊สรถยนต์จากอาจารย์ Google แล้ว  ผมก็โทรไปแต่ละที่  และได้ข้อมูลที่แตกต่างกันออกไป  จนสุดท้ายมาจบที่ร้านๆหนึ่ง ( ชื่อร้าน Toyo2009 ) ร้านนี้อยู่ในจังหวัดภูเก็ตนะครับ  ก็ได้พูดคุยกับเจ้าของอู่ครับ  ซึ่งเผอิญว่าเจ้าของอู่เคยเป็นครูฝึกช่างที่ Toyota มาก่อน  อันนี้โดนมากครับ  เพราะรถยนต์ที่เราใช้ก็ Toyota  แถมพี่แกคุมงานด้วยตัวเองด้วย  แต่ในตอนแรกผมติดเรื่องของราคานิดหน่อยครับ  เพราะร้านแกก็ไม่ถือว่าถูกนะครับ ( ตอนที่ติดตั้ง 26,000 บาท) แต่ตอนนั้นก็คิดเผื่ออนาคตแล้วว่า  ถ้าช่างมีความรู้ เราก็อุ่นใจ  แถมเจ้าของร้านคุมงานติดตั้งเอง ( อันนี้แหละเด็ด เพราะว่าหากงานออกมาไม่ดี จะได้ด่าถูกตัวล่ะทีนี้ 555+) ก็เลยใจง่าย ตกลงใจติดตั้งร้านนี้เลย

         สรุปในการติดตั้งนะครับดังนี้

  • ติดตั้งระบบแก๊สยี่ห้อ AC
  • ใช้ถังแคปซูล ขนาด 58 ลิตร พร้อมขาตั้ง ใช้เวลาในการติดตั้ง 2 วัน เพราะต้องเชื่อมขาตั้งถังแก๊ส  (แต่ถ้าติดตั้งถังโดนัท ใช้เวลาติดตั้งเพียงวันเดียวครับ แต่ต้องเพิ่มเงินอีกครับ)

                                                     ( อันนี้ครับเป็นถังแก๊สที่อยู่ด้านหลังรถผม )
                                             วันไหนแก๊สที่บ้านหมดก็ยกเอาไปใช้แทนได้ครับ 555+

          ตอนแรกกะจะติดโดนัท  แต่คิดๆดู  อย่างแรกต้องเพิ่มตัง  อย่างที่สอง ต้องเอายางอะไหล่ออก อย่างที่สาม ความจุถังลดลง เลยตัดสินใจติดถังแคปซูล  สรุปจ่ายไป 26,000 บาท (ตัวเบา)

                        เป็นรูปเครื่องยนต์ผมเองครับ  แทบจะมองไม่ออกครับว่าติดตั้งระบบแก๊สแล้ว

        จากที่ได้ติดตั้งระบบแก๊สรถยนต์ ตั้งแต่สิงหาคม 55 จนถึงปัจจุบันตุลาคม 56  ผมจะสรุปความคุ้มค่า และข้อเสียของการใช้งาน มาให้ฟังครับ

ความคุ้มค่า

1.) ประหยัดค่าพลังงานเชื้อเพลิง ประหยัดเท่าไหร่เหรอครับเรามาดูกัน  (คิดราคาน้ำมันที่ 36.50 บาท)
สมมติฐาน
น้ำมัน
แก๊ส
SAVE
เติม
500.00
500.00
0.00
ราคาต่อลิตร
36.50
13.98
22.52
ลิตร
13.70
35.77
22.07
ระยะทาง
180.00
343.61
163.61
กม. / ลิตร
13.14
9.61
-3.53
บาท / กม.
2.78
1.46
1.32
อันนี้เรามาดูกันว่าถ้าเติม 500 บาท  ระหว่างแก๊สกับน้ำมัน  จะเห็นได้ว่าราคาแก๊สถูกกว่าราคาน้ำมันถึง
22.52 บาท  ทำให้ได้ปริมาณลิตรมากกว่า 22.07 ลิตร  จึงทำให้สามารถวิ่งได้ไกลกว่าเดิมอีก 163.61 กิโลเมตร (ถึงแม้ว่าอัตราการเผาไหม้ของแก๊สจะสิ้นเปลืองกว่าน้ำมัน 3.53 กม.ต่อลิตรก็ตาม)  ถ้าสรุปให้น่าสนใจก็ต้องบอกว่า  ถ้าใช้น้ำมันจ่าย  2.78 บาทต่อกิโลเมตร  ถ้าเติมแก๊สจ่าย 1.46 บาทต่อกิโลเมตร)  ( น่าสนเปล่าครับ )

2.) เวลาจอดรถยนต์ทิ้งไว้  ขณะที่สตาร์ทเครื่อง(อยู่ในระบบแก๊ส) จะไม่เหม็นกลิ่นควันเหมือนระบบน้ำมันครับ  จะได้กลิ่นเป็นแก๊สแทน(ก็สดชื่นไปอีกแบบน่ะ)

3.) ทำให้รถยนต์เรามี 2 พลังงานคือ แก๊ส กับ น้ำมัน  ซึ่งทำให้สามารถเดินทางได้ระยะทางไกลขึ้น  แถมหมดปัญหาเรื่อง  น้ำมันจะหมดต้องรีบเติม  หรือ แก๊สจะหมดต้องรีบเติม  ( กลายเป็นรถยนต์ Hybrid ครับเป็นไงล่ะ ไฮโซป่ะ ) ถ้าเอาแบบว่าเติมเต็มถังทั้งน้ำมัน และแก๊ส เอาแบบคร่าวๆนะครับวิ่งได้ 1,000 กิโลเมตรเห็นจะได้  (แบบว่าวิ่ง กรุงเทพฯ  ภูเก็ต ได้สบายรวดเดียว)

          จากข้อดีทั้ง 3 ข้อนี้ผมถูกใจข้อ 1 กับ 3 เป็นที่สุดส่วนข้อ 2 ถือสะว่าเราช่วยลดโลกร้อนกันนะครับ 
ต่อไปเรามาดูข้อเสีย และปัญหากันบ้างครับ

ข้อเสีย และปัญหา

1.)  อันดับแรกเลยนะครับ  จากการที่ผมใช้ถังแคปซูล  จึงจำเป็นที่จะต้องไว้กระโปรงหลังรถ  จึงทำให้เวลาไปต่างจังหวัด  หรือไปซื้อของตามห้างครั้งล่ะเยอะๆ ต้องใช้ความพยายามและต้องคิดเผื่อครับ  เพราะว่าเหลือพื้นที่ไว้สำหรับใส่ของน้อยลงครับ ( พื้นที่ใส่ของหายไปประมาณ 25) แก้ได้ด้วยติดถังโดนัท (แต่ยางอะไหล่ก็หายไปอีก แถมความจุถังก็ลดลง) แก้ปัญหา 1 ได้ ก็เจอปัญหา 2 อีกนะ 555+

                           ก็ยังสามารถใส่ของได้เยอะครับ  แต่ว่าของที่ชิ้นใหญ่ๆก็ใส่ลำบากครับ

2.)  เวลาขายต่อจะทำให้ราคารถยนต์ลดลง
3.)  อัตราการเร่งของเครื่องยนต์ลดลงนิดหน่อย (แต่ก็ยังเหยียบขึ้น 120-140 แบบสบายๆ)
4.)  น้ำกลั่นจะแห้งเร็วกว่าเดิม (สำหรับแบ็ตเตอร์รี่น้ำ)
5.) ต้องเข้าอู่(ร้านที่ติดตั้งให้) บ่อยกว่าปกติ  เนื่องจากต้องเปลี่ยนน้ำมันเครื่องบ่อยกว่าเดิมนิดนึง และเพื่อเช็คสภาพระบบแก๊ส (ให้ช่างจูนระบบครับ)
6.) เครื่องยนต์สั่น  ตอนแรกที่ติดตั้งไม่มีอาการนี้  แต่พอใช้สัก 3-4 เดือน เริ่มมีอาการสั่นของเครื่องยนต์  แต่พอเข้าไปที่อู่เขาก็ปรับจูนชุดอุปกรณ์ให้ใหม่  อาการก็เป็นปกติ (คงประมาณเหมือนทำศัลยกรรมน่ะครับ  อะไรที่เพิ่มเติมจากของดั่งเดิม ก็ต้องมีการแก้ไขตามอาการกันไป)

   พยายามลองคิดหาปัญหาเพิ่มเติมแล้วครับ  นึกได้เพียงเท่านี้ครับ(หากคิดได้เพิ่มจากนี้จะรีบมาอัพเดทนะครับ)  งั้นขอต่อในส่วนของการดูแลรักษานะครับ (อันนี้ระยะยาวสำคัญที่สุดนะผมว่า)

      การดูแลรักษา หลังจากติดระบบแก๊สรถยนต์

1.)  ควรจะเติมน้ำมันหล่อเลี้ยงเครื่องไว้ไม่ต่ำกว่าครึ่งถังเสมอ  เพราะว่ายังไงเสียเครื่องยนต์ก็ยังต้องการน้ำมัน  แล้วอีกอย่างเวลาสตาร์ทเครื่อง  ยังสตาร์ทด้วยระบบน้ำมันเสมอ (อันนี้ผมเคยครับ น้ำมันเหลืออยู่นิดหน่อย กระพริบๆแล้ว แถมขับกระพริบมาสักพักแล้วด้วย  เวลาสตาร์ทเครื่องผลปรากฎว่า รถสตาร์ทไม่ติดนะครับ เลยแก้ไขด้วยการสตาร์ทด้วยแก๊ส ซึ่งควรใช้เฉพาะฉุกเฉินจริงๆนะครับ)

2.) เวลาขับไปต่างจังหวัดไกลๆ ควรสลับระหว่างการใช้ระบบแก๊ส กับน้ำมัน เพื่อลดความร้อนของเครื่องยนต์ด้วยนะครับ  หลายคนเข้าใจว่าติดแก๊สก็วิ่งแก๊สอย่างเดียว(ประหยัด) จริงๆแล้วมันจะทำให้อายุของเครื่องยนต์สั้นลงครับ (จากความร้อนที่สูงกว่าระบบน้ำมัน)

3.)  หมั่นเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องก่อนครบอายุสัก 1,000 – 2,000 กิโลเมตร  เพราะเนื่องจากว่าการใช้ระบบแก๊สมันจะทำให้เผาไหม้ด้วยความร้อนที่สูงกว่าปกติ  จึงทำให้น้ำมันเครื่องอาจจะหมดสภาพก่อนวัยอันควรครับ  ( อันนี้คนขับรถยนต์ประจำน่าจะรู้สึกครับ  ถ้าเริ่มเหยียบคันเร่งแล้ว ความเร็วไม่ค่อยจะขึ้น รอบเครื่องยนต์เริ่มตื้อๆ อาจแสดงได้ว่าน้ำมันเครื่องเริ่มหนืดแล้วล่ะครับ)

4.)   เวลาเราไปติดตั้งระบบแก๊ส จะได้คู่มือมาเล่มนึง  ซึ่งทางร้านเขาก็จะเขียนรายละเอียดต่างๆว่าได้ทำอะไรไปบ้างแล้ว  และวิ่งไปกี่กิโลเมตรแล้วหลังจากการติดระบบแก๊สรถยนต์  ซึ่งเขาจะนัดตรวจเช็คระบบ รวมไปถึงปรับจูนชุดอุปกรณ์ ตามระยะทางที่วิ่งไปแต่ละรอบครับ(เหมือนตรวจเช็คสภาพรถยนต์ ที่ศูนย์อะไรทำนองนั้น) ซึ่งเราควรเข้าไปให้ตรงตามที่ช่างเขาแนะนำครับ (เหมือนคนก็ไปพบแพทย์ ส่วนรถยนต์ก็ไปพบหมอเครื่องยนต์) ซึ่งหลักๆเขาจะเปลี่ยนที่กรองแก๊ส +  เปลี่ยนน้ำมันเครื่อง  

                                         หน้าตาของเจ้าคู่มือ ขอเรียกมันว่าสมุดพกล่ะกันครับ

          หากผู้ขับขี่ดูแลรถยนต์  ผมเชื่อว่าสุขภาพของรถท่านก็จะดีเช่นกันครับ   สุดท้ายนี้นะครับ ขอสรุปความคุ้มค่าในแบบฉบับของผม  สามารถสรุปได้ดังนี้ครับ

                 เรื่องของเงินในกระเป๋า  :  จากเดิมเติมน้ำมันเดือนละ 6,000 บาท  เหลือเติมแก๊ส 2,800 +
น้ำมัน 500 รวมเป็น  3,300 บาท ประหยัดไปประมาณ 2,700 บาท  เท่ากับว่าลงทุนติดตั้งไป 26,000 บาท
สามารถหาจุดคุ้มทุนได้จาก 26,000 หาร 2,700  เท่ากับ 9.63 เดือน  เท่ากับว่าใช้ไม่เกิน 10 เดือนก็หลุดค่าติดตั้งแล้วครับ  ( โอ้พระเจ้ายอด มันจอร์ดมาก ซาร่า )

                เรื่องของความสบายใจ เคยรู้สึกแบบนี้บ้างมั๊ยครับ  เวลาเพื่อนฝูงนัดไปไหนที่ไกลจากบ้านเรามากๆ แล้วเราจะนึกในใจว่า ( ฮ่า นี้ จะนัดไกลไปไหนว่ะ สาดดด )  ตอนใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงหลัก ผมก็คิดอย่างนั้นแหละ จะไปไหนทีก็คิดหน้าคิดหลัง  แต่พอหลังจากติดตั้งเชื้อเพลิงแก๊สเป็นหลัก  เวลาจะไปไหนไกลๆก็จะคิดเป็นอีกแบบ ( ประมาณว่า ไกลแค่ไหนก็ จิ๊บๆ ขอแค่นายเ่อ่ยมา ฉันจะไป ไม่ลังเล )

                เป็นยังไงบ้างครับ  เพื่อนๆนึกอยากจะติดตั้งระบบแก๊สรถยนต์ขึ้นมารึยัง 555+  งั้นผมคงขอปิดเรื่องของระบบแก๊สรถยนต์ไว้เพียงเท่านี้นะครับ  แต่ถ้าผมมีประสบการณ์อื่นๆที่นอกเหนือจากนี้ ไว้จะมาอัพเดทให้ฟังนะครับ  ในครั้งหน้าจะเขียนเป็นเรื่องอื่นบ้างแล้วครับ  รบกวนช่วยฝากผลงานไว้ในอ้อมกอด อ้อมใจด้วยนะครับ   By Special_Pong

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น